การตรวจเอชไอวี เป็นวิธีการที่จะช่วยให้ทราบว่าตนติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เนื่องจากว่าเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจนในช่วงแรก ส่งผลให้อัตราการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผู้ติดเชื้อบางรายนั้นไม่ทราบเลยว่าตนมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างรณรงค์ให้ทุกคนเข้ารับการตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตนไม่มีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนในระยะเวลาที่ผ่านมา การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวีพบเห็นได้ทั่วไป ผ่านการนำเสนอจากสถานพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง รวมถึงการรณรงค์จากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในวันเอดส์โรค ซึ่งเป็นการตอกย้ำพร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยจากเอชไอวี เพิ่มความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเอง ตลอดจนการรับมือต่อผลการตรวจเอชไอวีเมื่อทราบว่าตนติดเชื้อด้วย

ผลตรวจเอชไอวี

ผลการตรวจเอชไอวีมี 3 แบบ

การตรวจเอชไอวี แน่นอนว่าหลายคนจะต้องเข้าใจว่ามีเฉพาะ ติดเชื้อเอชไอวี และ ไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ทราบหรือไม่ว่า ในบางวิธีการตรวจนั้นสามารถแสดงผลการตรวจเอชไอวีได้มากกว่า 2 แบบ ซึ่งเราได้รวบรวมความหมายของผลการตรวจเอชไอวีมาให้ได้ทำความเข้าใจมากขึ้นดังต่อไปนี้

Negative หรือ Non-reactive

หากคุณเข้ารับการตรวจเอชไอวีและได้ผลลัพธ์ Negative หรือ Non-reactive หมายความว่าคุณ “ไม่มีการติดเชื้อ” ซึ่งหลายคนเข้าในดีในคำว่า ผลเลือดลบ นั่นเอง เกิดจากการตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคุณจะมั่นใจได้ 100% เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย หรือที่เรียกว่ามีโอกาสเกิดผลลบปลอม (False negative) ที่เกิดจากการตรวจเอชไอวีในช่วงระยะฟักตัวของเชื้อ (Window period) ทั้งที่ร่างกายมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายแล้วเพียงแค่ตรวจไม่พบในระยะดังกล่าว ทั้งนี้แพทย์จะนัดทำการตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3 – 6 เดือนหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อเป็นการตรวจยืนยันผลเลือดอีกครั้ง

Reactive หรือ Positive แปลว่า มีการติดเชื้อ ผลเป็นบวก

หากคุณเข้ารับการตรวจเอชไอวีและได้ผลลัพธ์ Reactive หรือ Positive หมายความว่าคุณ “มีเชื้อเอชไอวี” ซึ่งหลายคนเข้าใจกันเป็นอย่างดีในคำว่า เลือดบวก นั่นเอง โดยเกิดจากการตรวจเอชไอวีและพบว่ามีปฏิกิริยาต่อการตรวจ แต่อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับการตรวจพบผลเลือดลบที่อาจเกิดผลเลือกลบปลอมได้ การตรวจเอชไอวีอาจเกิดผลเลือดบวกปลอมได้เช่นกัน (False positive) นั่นหมายความว่าคุณอาจไม่ติดเชื้อเอชไอวี (กรณีนี้พบได้น้อยมาก) ทั้งนี้หากแพทย์ยืนยันผลอย่างเป็นทางการแล้วจะพิจารณาให้คุณเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด หรือในกรณีที่คุณเข้ารับการตรวจในคลินิกเฉพาะทาง แพทย์จะส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลใกล้เคียงอย่างเร็วที่สุด

Invalid แปลว่า ไม่สามารถแปลผลได้ การตรวจไม่ถูกต้อง

ผลการตรวจเอชไอวีที่แสดงผลว่าไม่สามารถแปลผลได้ เกิดขึ้นได้ในการตรวจด้วยชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self-Test) ซึ่งวางจำหน่ายในร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยสาเหตุของการที่ไม่สามารถแปรผลตรวจเอชไอวีได้นั้น เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ขั้นตอนการตรวจที่ไม่ตรงตามคำแนะนำ อายุการใช้งานของชุดตรวจ อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย เป็นต้น

การรับมือต่อผลการตรวจเอชไอวีอย่างเหมาะสมควรทำอย่างไร?

การรับมือผลการตรวจเอชไอวีหลังจากที่ได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วว่า คุณมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย สิ่งแรกที่แพทย์ให้คำแนะนำคือควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการตั้งสติให้ดีและมองในแง่ทางวิชาการว่า การรักษา คือทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้คุณอยู่ร่วมกับเอชไอวีได้อย่างปกติ หรือหากคุณควบคุมสติตนเองไม่ได้ ควรเลือกปรึกษาแพทย์โดยตรงเท่านั้น เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์พร้อมเพิ่มความมั่นใจต่อการรักษาร่วมด้วย โดยแต่ละกระบวนการรักษาเอชไอวีจะขึ้นอยู่กับระยะในการติดเชื้อรวมถึงสุขภาพร่างกายของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพตรงตามแต่ละบุคคลมากที่สุดนั่นเอง และนอกเหนือจากการรักษาจากแพทย์แล้วผู้ติดเชื้อควรดูแลตนเองอย่างเหมาะสมดังต่อไปนี้

การดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่ามีเชื้อเอชไอวี
  • รับประทานยาให้ตรงตามเวลาอย่างเคร่งครัด
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดเสพสารเสพติดทุกชนิด
  • ดูแลตนเองให้มีสุขภาพจิตที่ดีเพื่อให้จิตใจสดใส มีกำลังในการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าตนมีความกังวลเพียงเล็กน้อย ควรปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งข้อนี้มีความสำคัญมากต่อทัศนคติในการเข้ารับการรักษาเอชไอวี นับว่าเป็นแรงขับที่สำคัญไม่แพ้การรักษาจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่บุคคลอื่น ควรให้คู่นอนเข้ารับการตรวจเอชไอวีทันทีหากทราบผลว่าคุณติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว
  • ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากการติดเชื้อต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อนั้นถูกทำลายจากไวรัสเอชไอวี
  • อาการเบื่ออาหาร แนะนำให้ทานอาหารบ่อย ๆ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติจัด หรือ อาหารที่มีกลิ่นฉุน
  • อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ แนะนำให้งดอาหารรสเค็ม รสเปรี้ยว และอาหารประเภททอด
  • น้ำหนักลดลง แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทเนื้อ แป้ง และดื่มน้ำมาก ๆ
  • มีแผลในปาก แนะนำให้รับประทานอาหารที่ทานง่าย เหลวหรือนิ่มเพื่อให้เคี้ยวง่าย ให้พลังงานสูง

ข้อจำกัดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

แน่นอนว่าการติดเชื้อเอชไอวีส่งผลให้มีข้อจำกัดในบางกิจกรรม ดังนั้นผู้ติดเชื้อพึ่งคำนึงไว้เสมอว่าไม่ควรทำ เช่น

  1. การบริจาคโลหิต หรือ บริจาคอวัยวะและร่างกาย
  2. การทำประกันชีวิต (ตรวจสอบเงื่อนไขและข้อกำหนดอย่างละเอียด)
  3. การเข้าประเทศเพื่อทำงาน พักอาศัย หรือท่องเที่ยว ในบางประเทศ เช่น โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
  4. การเข้ารับราชการทหาร เพราะอาจต้องมีการฝึกหนักจนทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอ

สรุป การรับมือและการดูแลตนเองหลังทราบผลตรวจเอชไอวี เป็นสิ่งที่ควบคู่มากับความรู้ที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ หากผู้ติดเชื้อมีความกังวลใจหรือมีข้อสงสัยในระหว่างการรักษาเอชไอวี ควรสอบถามแพทย์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อควรให้คนใกล้ชิดเข้ารับฟังคำแนะนำจากแพทย์ร่วมด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและเพิ่มความมั่นใจให้การรักษาเป็นไปได้อย่างราบรื่นนั่นเองครับ

Click to rate this post!
[Total: 0 Average: 0]