การตรวจ HIV ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังไม่สามารถคิดค้นวิธีการรักษาให้หายขาดได้ นั่นก็คือ การติดเชื้อเอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) ที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อลดลง ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ง่ายมากกว่าปกติ อีกทั้งหากไม่เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วแล้ว จะส่งผลต่อร่างกายทำให้เข้าสู่ระยะรุนแรงที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อว่า ระยะเอดส์ นั่นเอง
ด้วยความเชื่อและความเข้าใจผิดที่ได้ส่งต่อกันมา เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะตรวจ HIV เพื่อเพิ่มการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเอชไอวีเท่าที่ควร ซึ่งมีแง่มุมต่อผู้ป่วยเอชไอวีในทางลบ จนส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติไปจนถึงการตีตราผู้ป่วย นำมาสู่ความกลัว ไม่กล้า ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจของสังคม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรวจ HIV กลายเป็นทางเลือกที่หลายคนไม่กล้าปรึกษาแพทย์โดยตรง ทั้งที่ตนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงก็ตาม
ในบทความนี้เราได้รวบรวมคำตอบของทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจ HIV ที่คัดสรรมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า พบคำถามเหล่านี้บ่อยครั้งจากหลากหลายแหล่ง รวมไปถึงความเข้าใจผิด ๆ ที่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจไปในทิศทางถูกต้อง และเปลี่ยนทัศนคติต่อการตรวจ HIV การป้องกัน HIV การรักษา HIV ไปจนถึงการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นหลังจากทราบผลการตรวจ HIV ว่าติดเชื้อเอชไอวี ทั้งหมดนี้จะให้ความรู้และไขข้อข้องใจได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน ไปติดตามในเนื้อหากันได้เลย
Table of Contents
ทำไมเราควรตรวจ HIV?
ไม่ว่าโรคใดย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เอชไอวีที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ หากทราบสถานะได้เร็วมากเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาไม่ให้ลุกลามไปสู่ระยะรุนแรงก็มากด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตรวจ HIV จึงเป็นทางเลือกในการป้องกันที่สำคัญไม่แพ้การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งยังเป็นการเพิ่มการตระหนักถึงการดูแลตนเองและคู่ของคุณร่วมด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไรการติดเชื้อเอชไอวีอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย บางรายมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายแต่ไม่รู้ตัวว่าตนติดเชื้อ ประกอบกับโดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน จนในที่สุดอาการก็ลุกลามไปสู่ระยะรุนแรง ทำให้ไม่สามารถรับมือกับอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดีเท่าที่ควร ด้วยสาเหตุเหล่านี้เองทำให้การตรวจ HIV เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำอย่างยิ่งในทุก ๆ ปีเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเอง
การตรวจ HIV ในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายแพงไหม?
ปัจจุบันการตรวจ HIV เป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สิทธิการตรวจ HIV เป็นหนึ่งในสิทธิของประชาชนไทยภายใต้หลักสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเข้ารับการตรวจได้ฟรี 2 ครั้ง/ปี ภายในสถานพยาบาลที่มีสิทธิทั่วประเทศ หรือเลือกเข้ารับการตรวจ HIV ในคลีนิกนิรนาม และคลินิกเฉพาะทางโดยตรง หากต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการเผยข้อมูลส่วนตัว สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของแต่ละบุคคลได้เช่นเดียวกัน โดยค่าใช้จ่ายของแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมี ชุดตรวจ hiv ด้วยตัวเอง ที่ผ่านการรับรองจาก อย. ให้สามารถ หาซื้อชุดตรวจเอดส์ ได้ตามร้านขายยาทั่วไป แนะนำให้สอบถามก่อนตัดสินใจเลือกเข้ารับการตรวจ HIV จึงจะดีที่สุด
จะทราบได้อย่างไรว่าควรตรวจ HIV?
ข้อสงสัยนี้จัดว่าเป็นคำถามที่พบได้บ่อยในทุก ๆ คน เนื่องจากการตรวจ HIV เป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน ด้วยความที่ว่าไม่มั่นใจว่าตนเองนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ตลอดจนมองว่าการตรวจ HIV ควรเข้ารับการตรวจเมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากคุณคือหนึ่งในผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจพร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ
- หญิงตั้งครรภ์
การตรวจ HIV ในปัจจุบัน ใช้เวลานานหรือไม่จึงจะทราบผล?
ระยะเวลาในการตรวจ HIV จะขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจที่เลือกใช้ หากเป็นการตรวจโดยสถานพยาบาลทั่วไปด้วยวิธีการตรวจที่นิยมใช้หลัก ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ระยะเวลาทราบผลได้เร็วที่สุดใน 1 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการระยะเวลาที่แน่นอน แนะนำให้ปรึกษากับสถานพยาบาลนั้น ๆ เพื่อสอบถามโดยตรงจึงจะดีที่สุด ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วการตรวจ HIV จะพิจารณาจากระยะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อครั้งล่าสุด ดังนั้นการให้ข้อมูลโดยละเอียดต่อแพทย์ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพิจารณาวิธีการตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อประสิทธิภาพการตรวจที่แม่นยำและระยะเวลาในการทราบผลที่เหมาะสม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรงก่อนตรวจ HIV นั่นเอง
หลังจากตรวจ HIV แล้วทราบผลว่าติดเชื้อเอชไอวีควรทำอย่างไร?
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้หลังจากเข้ารับการตรวจ HIV นั่นก็คือผลการตรวจที่มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ไม่ติดเชื้อเอชไอวีและติดเชื้อเอชไอวี ในกรณีที่ได้รับผลการตรวจจากเจ้าหน้าที่ว่าคุณมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย เจ้าหน้าที่ซึ่งได้ผ่านการอบรมมาอย่างเป็นทางการแล้ว จะให้คำแนะนำกับคุณและเปิดโอกาสให้คุณได้ปรึกษาเกี่ยวกับการรักษา การรับมือด้านการดูแลตนเอง ตลอดจนการชี้แจงต่อคนในครอบครัวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คุณควรตั้งสติให้ได้มากที่สุดโดยเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ พร้อมกับนั้นควรปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้คุณเข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวีได้อย่างเหมาะสม ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างคนทั่วไป รวมถึงควรตระหนักไว้เสมอว่าการป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่บุคคลอื่น คือสิ่งควรทำอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ ควบคู่ไปกับการดูแลตนเองและการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับ การตรวจเอดส์ ในปัจจุบัน ที่จัดอันดับว่าเป็นคำถามที่พบได้บ่อยมากที่สุด เชื่อว่าหากเพื่อน ๆ ได้อ่านทำความเข้าใจทั้งหมดนี้ จะมีความรู้ที่ถูกต้องตลอดจนเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อตัดสินใจก่อนเข้ารับการตรวจ HIV การเตรียมตัวก่อนตรวจ HIV รวมถึงการรับมือต่อผลการตรวจที่ตามมาได้เป็นอย่างดี หากใครที่มีข้อสงสัยนอกเหนือจากเนื้อหาในบทความนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อรับคำแนะนำที่ตรงประเด็นและเป็นประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลให้บริการทั่วประเทศทั้งโรงพยาบาล คลินิก มูลนิธิ ฯลฯ