ขั้นตอนการตรวจ HIV ความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนแล้วแต่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งก่อกวนความสุขทางกาย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาซึ่งคาดเดาไม่ได้ จนบางครั้งเกือบจะทำให้เงินเก็บที่สะสมไว้หมดลงในพริบตา ดังนั้น การใส่ใจสุขภาพไปพร้อม ๆ กับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่า ซึ่งในที่นี้เราจะมาพูดถึง การตรวจ HIV หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ปัจจุบัน ยังไม่สามารถคิดค้นแนวทางการรักษาให้หายขาดได้ โดยขั้นตอนการตรวจ HIV ยุคนี้ เมื่อเทียบกับในอดีต ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำลายความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่ายุ่งยาก ใช้เวลานาน หรือ ราคาแพง ไปจนหมด

ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี

การตรวจ HIV แท้จริงแล้วสามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ สถานพยาบาลที่รองรับวิธีการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ไปจนถึงความสะดวกสบายที่ต้องการ ในปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจ HIV ได้พัฒนาเพื่อเข้าถึงผู้คนได้ทั่วไป ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อว่า ชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง (HIV Self-Test) เพียงแค่เจาะเลือดจากนิ้วมือแค่ 1 หยด ก็สามารถทราบผลได้ภายในไม่กี่นาทีเท่านั้น ทั้งนี้หากต้องการเข้ารับการตรวจ HIV ภายในสถานพยาบาล แน่นอนว่าก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุสิทธิในการตรวจ HIV ให้เป็นหนึ่งในหลักสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนไทยได้ตรวจฟรี ปีละ 2 ครั้ง และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังมีสิทธิเข้ารับการตรวจ HIV ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองอีกด้วย จึงถือว่าเป็นการป้องกันเอชไอวีขั้นพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีตอย่างมาก

ปัจจุบัน ขั้นตอนการตรวจ HIV แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

การตรวจ HIV จากแอนติเจนของเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV p24 antigen testing)

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ร่างกายจะยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส ทำให้การตรวจ HIV จึงจะต้องอาศัยการตรวจหาโปรตีนของเชื้อแทน โดยมีชื่อว่า p24 ทั้งนี้วิธียังใช้กับผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีระดับแอนติบอดีต่ำและไม่สามารถวัดค่าได้ร่วมด้วย

การตรวจ HIV จากแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV testing)

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีขึ้นมา ทำให้การตรวจ HIV วิธีนี้สามารถยืนยันได้ชัดเจนและได้รับความนิยมนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองทั่วโลก

การตรวจ HIV จาก HIV p24 antigen และ Anti-HIV

การตรวจ HIV วิธีนี้จะใช้น้ำยาตรวจที่สามารถตรวจหาทั้งแอนติเจนของเชื้อและแอนติบอดีจำเพาะในคราวเดียวกัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าน้ำยาตรวจ Fourth Generation โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้หลังจากที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์

การตรวจ HIV จากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชไอวี (Nucleic acid test)

การตรวจ HIV ด้วยวิธีนี้มีชื่อย่อว่า NAT ซึ่งสามารถทราบผลได้เร็วกว่าวิธีการอื่น ๆ โดยตรวจพบเชื้อได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมาแล้วประมาณ 3-7 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับความนิยมให้นำมาใช้ในสถายพยาบาล แต่ใช้เฉพาะการตรวจ HIV เพื่อคัดกรองผู้บริจาคโลหิตเท่านั้น

ขั้นตอนการตรวจ HIV ในปัจจุบัน

1. พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจ HIV ควรพิจารณาก่อนว่าตนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ โดยที่วิเคราะห์จากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ถุงยางอนามัยฉีกขาด
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น (เสพสารเสพติด)
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าคู่นอนของตนมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  • ผู้ป่วยวัณโรค
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเอชไอวี

การพิจารณาเบื้องต้นนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการเข้าตรวจ HIV เพราะเมื่อมั่นใจว่าตนเองควรได้รับการตรวจ จะยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปสู่ระยะรุนแรงได้อย่างทันท่วงที โดยหากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบผลได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

2. เลือกสถานพยาบาล หรือ ผู้ให้บริการตรวจ HIV

ขั้นตอนเลือกสถานพยาบาลในการตรวจ HIV เป็นเรื่องสำคัญต่อหลาย ๆ คน เนื่องจากแต่ละคนต้องการความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันไป เช่น ต้องการตรวจ HIV ในคลินิกที่ให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น ด้วยเหตุผลในด้านความจำเป็นเรื่องเวลาที่จำกัด ระยะทางในการเดินทาง รวมไปถึงต้องการปรึกษาแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว หากใครที่ไม่ติดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความลับเกี่ยวกับข้อมูล การเลือกเข้ารับการตรวจ HIV ในสถานพยาบาลย่อมทำได้เช่นกัน โดยที่แพทย์จะได้ซักถามประวัติความเสี่ยง และประเมินวิธีการตรวจ HIV ที่เหมาะสมให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

3. ให้ข้อมูลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างตรงไปตรงมา

ก่อนทำการตรวจ HIV แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงโดยละเอียด เพื่อช่วยให้สามารถประเมินระยะเวลาในการติดเชื้อเอชไอวีได้ใกล้เคียงมากที่สุด ดังนั้นคุณควรให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเป็นความจริง

4. เตรียมตัวเข้ารับการตรวจ HIV

ก่อนตรวจ HIV แพทย์จะให้คุณลงนามยินยอมรับการตรวจโดยสมัครใจ โดยคุณไม่จำเป็นจะต้องเตรียมตัวหรือร่างกายให้พร้อม ด้วยการงดน้ำ งดอาหาร หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเหมือนกับการตรวจโรคอื่น ๆ แต่อย่างใด เพียงแค่ใจพร้อม ก็สามารถตรวจด้วยการเจาะเลือดได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

5. ปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ก่อนและหลังการตรวจ HIV แพทย์จะเปิดโอกาสให้คุณได้สอบถาม ปรึกษา และข้อคำแนะนำ ในข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทางที่ดีคือการตั้งสติและสอบถามให้คลายข้อสงสัยทั้งหมด ให้เข้าใจไปในทิศทางที่ถูกต้องมากที่สุด

6. การป้องกันและการรับมือต่อผลการตรวจ HIV

เมื่อได้ผลลัพธ์การตรวจ HIV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากผลคือไม่ติดเชื้อเอชไอวี คุณไม่ควรละเลยการป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกันหากผลการตรวจ HIV คือคุณติดเชื้อเอชไอวี สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ จากนั้นวางแผนในการเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนั้นควรแนะนำให้คู่นอนของคุณเข้ารับการตรวจร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจและสามารถรับมือได้ทันท่วงที

ตรวจเอชไอวีมีประโยชน์

สำหรับขั้นตอนการตรวจ HIV ในปัจจุบันไม่มีความน่ากลัว หรือ ใช้เวลานานอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่การเลือกที่จะปิดกั้นโอกาสตนเองให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว คือสิ่งที่น่ากลัวกว่า เพราะหากทราบเร็วเท่าไหร่ การรักษาที่เร็วก็จะยิ่งช่วยให้คุณได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติเท่านั้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดไม่ว่าคุณจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ก็ควรเข้าตรวจ HIV อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเองครับ

Click to rate this post!
[Total: 0 Average: 0]