การตรวจเอชไอวีเพื่อตรวจหาไวรัสเอชไอวี ( HIV : Human Immunodeficiency Virus ) เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ซึ่งส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำนำไปสู่โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยที่เชื้อไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า CD4 และทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ (Opportunistic Infections) เช่น วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น

“ตรวจเอชไอวีเร็ว ถือว่าเป็นการป้องกัน และการรักษาตัวคุณให้มีสุขภาพที่แข็งแรง”

การตรวจเอชไอวี ให้ทราบอย่างทันท่วงทีจึงเป็นผลดีต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะเป็นการรู้เท่าทันได้เร็วแล้ว ยังเป็นการป้องกันการติดต่อสู่คู่นอนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากผลการสำรวจของ AIDS Epidemic Model: AEM พบว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 500,000 คน ผู้ที่กำลังรับยาต้านไวรัส 394,598 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 6,600 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวีประมาณ 12,000 คน (อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564) โดยจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่ายังคงมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีอยู่มาก เนื่องมาจากการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวจนทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวีในระยะรุนแรง หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่า โรคเอดส์ นั่นเอง จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญต่อการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการลุกลามสู่ระยะเอดส์รวมไปถึงป้องกันการแพร่เชื้ออีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

คุณจะทราบได้อย่างไรว่าควรตรวจเอชไอวีแล้วหรือยัง?

แน่นอนว่าในเมื่อเอชไอวีเป็นต้นตอของผลกระทบของร่างกายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การตระหนักรู้ถึงการตรวจเอชไอวีจึงเป็นทางเลือกควบคู่ไปกับการป้องกันที่ดีร่วมด้วย โดยไม่สามารถกล่าวได้ว่าทางเลือกไหนควรทำมากกว่าหรือน้อยไปกว่ากัน ซึ่งคุณจะทราบได้อย่างไรว่าควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีแล้วหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และความพึงพอใจในการป้องกันของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วในระยะเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน นับว่าเป็นการยากหากจะใช้การสังเกตอาการของตนแล้วค่อยเข้ารับการตรวจยืนยัน เพราะอาจทำให้เข้าสู่ระยะที่ลุกลามสู่โรคอื่น ๆ แล้วก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจเอชไอวีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เหมือนกับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ทั้งนี้ควรมองว่าเอชไอวีสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และลดการมองในแง่ลบต่อเอชไอวี ตลอดจนผู้ติดเชื้อหรือการตีตราผู้เข้าตรวจเอชไอวีด้วย จะทำให้แง่มุมต่อการตรวจเอชไอวี การรักษาเอชไอวี การป้องกันเอชไอวี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และไม่ส่งผลต่อการตีตราทางสังคมที่ในปัจจุบันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

ความเสี่ยงต่อการต่อการติดเชื้อเอชไอวี

 

ข้อสังเกตที่เตือนว่าคุณควรตรวจเอชไอวี

ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือ ผ่านความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่ทราบว่าตนผ่านความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมาไม่นาน ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยทันทีหรือเร็วที่สุด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับการตรวจเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คำนวณได้จากการคาดการณ์สัมผัสเชื้อครั้งล่าสุดและเว้นระยะเวลาให้ผ่านระยะฟักตัวประมาณ 3 เดือน จึงจะเป็นเวลาการตรวจเอชไอวีที่ได้ประสิทธิภาพ โดยผ่านความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ หรือ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าคู่นอนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น (ผู้ที่ติดยาเสพติด)

 

ผู้ที่มีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 3 ระยะ

ระยะโรคเอดส์

อาการระยะเฉียบพลัน

ระยะเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากร่างกายตอบโต้ต่อเชื้อเอชไอวี มักเกิดขึ้นได้ในระหว่าง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและป้องกันการลุกลามสู่ระยะถัดไป ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยเร็วที่สุด

อาการระยะสงบทางคลินิก

ระยะที่เชื้อเอชไอวีในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน หรือ มีอาการให้เห็นเพียงน้อยนิดเท่านั้น จากสถิติแล้วมักใช้ระยะเวลานานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อแต่ละราย ถือว่าเป็นระยะที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้ จึงแนะนำว่าหากคาดว่าผ่านความเสี่ยงมาไม่นานควรตรวจเอชไอวีจะดีที่สุด หรือตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

อาการระยะเอดส์ (ระยะสุดท้าย)

นับว่าเป็นระยะแสดงอาการที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครทั้งสิ้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสได้ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด โดยอาการของโรคเอดส์มีข้อสังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • มีอาการไข้เรื้อรัง
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าปกติ
  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เปลือกตา และจมูก
  • มีแผลที่อวัยวะเพศ ริมฝีปาก และทวารหนัก
  • มีอาการทางระบบประสาท สูญเสียความทรงจำ
  • บริเวณ คอ รักแร้ และขาหนีบ มีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง

อย่างไรก็ตามเป็นเพียงอาการเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้การันตีว่าเป็นอาการของเอดส์ทั้งหมด ทางที่ดีที่สุดควรตรวจเอชไอวีและปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างถูกต้องอีกครั้ง จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อเอชไอวีในระยะใด

 

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง

 

จะเห็นได้ว่าการตรวจเอชไอวีเพื่อให้ทราบผลเลือดอย่างทันท่วงที คือทางที่จะช่วยให้คุณรับมือกับผลที่ตามมาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า พูดง่าย ๆ คือ รู้เร็ว รักษาเร็ว ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีได้อย่างปกติ ทางที่ดีคือการตรวจเอชไอวีเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งเปลี่ยนมุมมองต่อเอชไอวีให้ถูกต้องมากขึ้น จะช่วยให้คุณห่างไกลจากความเสี่ยงได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

Click to rate this post!
[Total: 0 Average: 0]